วิธีป้องกันอาการ ตาล้า

วิธีป้องกันและบรรเทาอาการตาล้า

ตาล้าคืออะไร?

ตาล้า หรือ Computer Vision Syndrome (CVS) เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากการใช้สายตามากเกินไป โดยเฉพาะการจ้องมองอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นเวลานาน สมัยนี้ที่เราต้องทำงานหน้าจอกันทั้งวัน กลับบ้านมาก็ยังเล่นโทรศัพท์ อ่านข่าว ดูหนัง เล่นโซเชียล ไม่แปลกที่ตาของเราจะล้าและเสื่อมเร็วกว่าที่ควร

หลายคนคงเคยได้ยินผู้ใหญ่คอยบอกเราเสมอว่า "อย่านั่งใกล้ทีวี เดี๋ยวตาเสีย" แต่ปัจจุบันนี้เรากลับนั่งเพ่งหน้าจอที่ใกล้ตากว่านั้นหลายเท่า เป็นเวลาหลายชั่วโมงต่อวัน ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ที่ออฟฟิศ หรือมือถือที่พกติดตัวตลอดเวลา

 

อาการของตาล้าที่ควรสังเกต

อาการตาล้าอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน แต่สัญญาณที่พบบ่อยมีดังนี้

  • ตาแห้ง แสบตา - รู้สึกเหมือนมีเม็ดทรายในตา กะพริบตาแล้วยังรู้สึกไม่สบาย 
  • ปวดตา หรือปวดบริเวณรอบดวงตา - บางคนอาจรู้สึกปวดที่ขมับหรือหน้าผากด้วย
  • มองเห็นไม่ชัด - ภาพเบลอชั่วคราว โดยเฉพาะเมื่อมองไกล หลังจากใช้สายตาระยะใกล้มานาน
  • ตาสู้แสงไม่ไหว - แสงจ้าทำให้รู้สึกไม่สบายตามากกว่าปกติ
  • น้ำตาไหล - บางคนอาจมีน้ำตาไหลมากผิดปกติ (ซึ่งเป็นปฏิกิริยาของร่างกายเมื่อตาแห้ง)
  • เห็นภาพซ้อน - มองเห็นวัตถุเดียวเป็นสองภาพ โดยเฉพาะเมื่อใช้สายตานาน
  • ปวดคอ บ่า หรือหลัง - เกิดจากท่าทางที่ไม่เหมาะสมขณะใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

 

ข้อแนะนำการดูแลและถนอมสายตา

1. ทำตามกฎ 20-20-20

ในความหมายคือ ทุก ๆ 20 นาทีของการใช้สายตาจ้องหน้าจอ ให้พักสายตา 20 วินาที โดยมองไปที่วัตถุระยะไกลประมาณ 20 ฟุต (หรือประมาณ 6 เมตร) วิธีนี้จะช่วยให้กล้ามเนื้อตาได้ผ่อนคลาย

2. จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม

  • ปรับความสว่างของหน้าจอให้พอดี ไม่จ้าหรือมืดเกินไป
  • จัดวางหน้าจอให้ต่ำกว่าระดับสายตาเล็กน้อย ประมาณ 15-20 องศา
  • นั่งห่างจากหน้าจอประมาณ 50-70 เซนติเมตร
  • ปรับแสงในห้องให้เหมาะสม ไม่ควรทำงานในห้องมืดโดยมีเพียงแสงจากหน้าจอ

3. กะพริบตาบ่อย ๆ

เมื่อเราจดจ่อกับหน้าจอ เรามักกะพริบตาน้อยลงกว่าปกติถึง 3 เท่า ทำให้ตาแห้ง ฝึกกะพริบตาบ่อย ๆ จะช่วยให้ดวงตาชุ่มชื้น

4. ใช้น้ำตาเทียม

หากมีอาการตาแห้งบ่อย ๆ อาจใช้น้ำตาเทียมช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา แต่ควรเลือกชนิดที่ไม่มีสารกันเสียหรือปรึกษาแพทย์เพื่อแนะนำการใช้ยา

5. การบริหารดวงตา

ลองบริหารดวงตาง่าย ๆ ด้วยการกลอกตาเป็นวงกลม หรือมองซ้าย-ขวา บน-ล่าง เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อตา

6. ใส่แว่นกรองแสงสีฟ้า

แสงสีฟ้าจากหน้าจออาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตาล้า การใส่แว่นที่มีเลนส์กรองแสงสีฟ้าอาจช่วยลดอาการตาล้าได้

7. รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพตา

อาหารที่มีวิตามินเอ ซี อี โอเมก้า-3 ลูทีน และซีแซนทีน ช่วยบำรุงสายตา เช่น

  • ผักใบเขียวเข้ม (คะน้า ผักโขม)
  • ปลาทะเลน้ำลึก (แซลมอน ทูน่า)
  • ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่
  • แครอท ฟักทอง มันเทศสีส้ม
  • ถั่วและเมล็ดพืชต่างๆ

 

ตาล้าเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน ซึ่งหลายคนก็มักมองข้ามเพราะคิดว่ายังไม่สำคัญ อย่าลืมว่าดวงตาเป็นอวัยวะที่สำคัญและละเอียดอ่อน เราใช้งานดวงตาตลอดเวลาทุกวันตั้งแต่ตื่นจนเข้านอน หากเราไม่ดูแลให้ดี ปัญหาเล็ก ๆ อย่างตาล้าอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคตได้ หมั่นสังเกตอาการผิดปกติและให้ความสำคัญกับการพักสายตาอย่างเพียงพอ เพื่อให้ดวงตาของคุณแข็งแรงและมองเห็นได้ชัดเจนไปอีกนาน

 

 

LASIK SUPER Center เรามีเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัย พร้อมตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาค่าสายตา ไม่ว่าจะเป็น Lasik PresbyMax หรือ SmartSight นวัตกรรมล่าสุดสำหรับการแก้ไขสายตาด้วยความปลอดภัยสูง

สามารถเข้ามาปรึกษาเราได้ที่ โรงพยาบาลพญาไท 3, โรงพยาบาลกรุงเทพ-พัทยาโรงพยาบาลวิภาวดี หรือ ติดต่อช่องทางออนไลน์เพื่อสอบถามและปรึกษาเบื้องต้นได้ ที่ LINE @bangkok-lasik / โทรศัพท์: 02-467-1111 ต่อ 1438 หรือ 080-798-2020